Optical Brightening Agents (OBA) หรือสารฟอกนวล มีลักษณะเป็นสีย้อมชนิดหนึ่ง แต่แทนที่ระบบครอมอฟอร์ (Chromophore) ที่แสดงลักษณะของสีย้อมกลับกลายเป็นระบบของการเรืองแสงแทน มีกลุ่มที่สามารถดูดติดเส้นใยได้เหมือนสีย้อม สารฟอกนวลมีหลายชนิดต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของเส้นใย
การทำงานของสารฟอกนวล
สารฟอกนวล (OBA) สามารถดูดแสงเหนือม่วง (UV) ที่มีความยาวคลื่นสั้นมาจากแสงแดด ซึ่งเป็นแสงที่นัยน์ตามนุษย์มองไม่เห็น เปลี่ยนเป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นยาวกว่า คือช่วงแสงสีม่วง สีน้ำเงินและสีเขียวอมน้ำเงิน แล้วปล่อยออกมา ดังนั้นแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุที่มีสารฟอกนวลจึงมีแสงน้ำเงินมาก และความเข้มของแสงมากขึ้นด้วย
ทำไมจึงมองเห็นผ้าเป็นสีเหลือง
สาเหตุที่มองเห็นผ้าดิบเป็นสีเหลือง เนื่องจากแสงสว่างตกกระทบบนผ้าดิบ สิ่งเจือปนบนผ้าดิบจะดูดแสงบางช่วงคลื่นไว้ โดยเฉพาะช่วงคลื่นสีน้ำเงินจะถูกดูดกลืนไว้มาก จึงทำให้มองเห็นผ้าดิบออกเป็นสีเหลืองโดยสีเหลืองนี้สามารถทำให้ลดลงได้โดยการฟอกด้วยสารเคมี เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หรือโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เป็นต้น
ผ้าที่ผ่านการฟอกขาวแล้วจะมีความขาวมากกว่าผ้าดิบ แต่ยังไม่ได้ขาวบริสุทธิ์คือผ้ายังออกสีเหลืองอยู่ ทั้งนี้เพราะผ้ายังดูดกลืนคลื่นแสงสีน้ำเงินไว้บางส่วน จึงทำให้เห็นผ้าฟอกแล้วออกเหลือง ซึ่งสามารถ
- เติมสีย้อมสีน้ำเงินที่เหมาะสมลงไป สีย้อมสีน้ำเงินจะดูดกลืนคลื่นสีเหลืองบางส่วนไว้ ทำให้คลื่นแสงมีความสมดุลมากขึ้น เรียกว่าความขาวนี้บริสุทธิ์มากขึ้น แต่ความขาวนี้จะยังไม่สดใสมากนัก
- เติมสารฟอกนวล (Optical Brightening Agents: OBA)
รูปผ้าที่ผ่านการเติมสารฟอกนวลแล้ว
ส่วนผ้าขาวเมื่อเก็บไว้นานจะเกิดเป็นสีเหลือง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ดังนี้
- โดยการใช้สารฟอกขาว เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หรือโซเดียมไฮโปคลอไรด์ แต่วิธีนี้จะมีข้อเสียคืออาจทำให้ผ้าเปลี่ยนสีและเปื่อยง่าย
- โดยการ Tint สีน้ำเงิน ซึ่งจะช่วยดูดซับแสงสีเหลือง ทำให้เรามองเห็นผ้าเป็นสีขาว
- โดยการใช้สารฟอกนวล (OBA) ซึ่งจะช่วยดูดซับแสง UV ที่มนุษย์มองไม่เห็น และเปลี่ยนพลังงานเป็นแสงที่มนุษย์มองเห็นซึ่งมีความยาวคลื่นยาวกว่า สีเหลืองจะถูกดูดซับโดยการแพร่ของแสงสีม่วงน้ำเงินที่มาจากสารฟอกนวล ทำให้มองเห็นผ้ามีสีขาวขึ้น
โครงสร้างของสารฟอกนวล
สารฟอกนวล (OBA) เมื่อแบ่งตามโครงสร้างสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- กลุ่มสไตบีน (Stibene) ส่วนใหญ่เป็นสารฟอกนวลของเซลลูโลส ขนแกะ ไนล่อน
- กลุ่มไพราโซไลน์ (Pyrazoline) ส่วนใหญ่เป็นสารฟอกนวลของไนล่อน อะซิเตต อะไครลิค ขนแกะ
- กลุ่มเบนโซซาซอล (Benzoxazol) ส่วนใหญ่เป็นสารฟอกนวลของ โพลีเอสเตอร์ อะไคริค เซลลูโลส
- กลุ่มคาวมาริน (Coumarine) ส่วนใหญ่เป็นสารฟอกนวลของ โพลีเอสเตอร์ ไตรอะซิเตต อะไครลิค ไนล่อน
การใช้งานของสารฟอกนวลสำหรับเซลลูโลส
เส้นใยเซลลูโลสในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่พบมาก ได้แก่ ฝ้าย เรยอน โดยการใช้งานของสารฟอกนวลสำหรับเซลลุโลสมี 3 วิธี ดังนี้
- ใส่สารฟอกนวลในช่วงฟอกผ้า ซึ่งใช้ได้เฉพาะกับสารฟอกไอโดรเจนเปอร์ออกไซด์
- ใส่สารฟอกนวลหลังฟอกผ้าแล้ว
- ใส่สารฟอกนวลพร้อมกับสารตกแต่งผ้าในช่วงตกแต่งผ้า
ผ้าที่ลงสารฟอกนวลต้องการความขาวสูงสุดและมีความคงทนดี ต้องเตรียมผ้ามาดี เลือกชนิดของสารฟอกนวลได้เหมาะสม การตกแต่งผ้าได้ดี
การเลือกสารฟอกนวลให้เหมาะสมกับวิธีการใช้งานทำได้โดยเลือกคุณลักษณะการดูดเส้นใยของสารฟอกขาว
สารฟอกนวลแบ่งตามคุณลักษณะการดูดติดเส้นใย (Affinity) ได้ 3 ระดับคือ
- ดูดติดเส้นใยสูง (High–Affinity) เป็นสารฟอกนวลที่มีสัมประสิทธิ์การกระจายตัวต่ำกว่าพวกดูดติดเส้นใยปานกลางและต่ำ แต่อัตราการดูดซึมจะสูงกว่า ทำให้ติดอยู่บนผิวของเส้นใยได้มากกว่า สามารถทนอุณหภูมิสูงได้ดี, เหมาะสำหรับขบวนการแบบดูดซึมและแบบแพด ทนต่อการซักและสามารถใช้ร่วมกับสารฟอกขาวที่เป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ได้
สินค้าของบริษัท: Apcophor BA 267%, Apcophor BHT 180%, Apcophor TG Liquid, Apcophor UN Liquid, Apcophor BTV, Apcophor CRD
- ดูดติดเส้นใยปานกลาง (Medium–Affinity) เป็นสารฟอกนวลที่มีสัมประสิทธิ์การกระจายตัวปานกลาง อัตราการดูดซึมปานกลาง เหมาะสำหรับแบบดูดซึมและแบบแพด ทนต่อการซักได้ปานกลาง แต่ทนต่อกรดได้ดีกว่าพวกดูดติดเส้นใยสูงและสามารถใช้ร่วมกับสารฟอกขาวที่เป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ได้
สินค้าของบริษัท: Apcophor BRK Liquid, Apcophor RSB 150%, Apcophor CRD
- ดูดติดเส้นใยต่ำ (Low–Affinity) เป็นสารฟอกนวลที่มีสัมประสิทธิ์การกระจายตัวสูง แต่อัตราการดูดซึมต่ำ เหมาะสำหรับขบวนการแบบแพดเท่านั้น, ทนต่อการซักและทนอุณหภูมิสูงได้ต่ำ แต่ทนต่อกรดได้ดีกว่าพวกดูดติดเส้นใยสูงและปานกลาง สามารถใช้ร่วมกับสารตกแต่งกันยับได้
สินค้าของบริษัท: Apcophor TB Liquid, Apcophor MST
การใช้งานของสารฟอกนวลสำหรับโพลีเอสเตอร์และเส้นใยผสม
เส้นใยโพลีเอสเตอร์ผสม ส่วนใหญ่จะผสมกับเส้นใยเซลลูโลส เช่น ผสมกับฝ้ายเป็น T/C ผสมกับเรยอนเป็น T/R ผ้าที่ทอหรือถักจะเป็นเส้นใยผสม เช่น T/C หรือ T/R ต้องใช้สารฟอกนวล 2 ชนิด ชนิดหนึ่งใช้ย้อมโพลีเอสเตอร์ อีกชนิดหนึ่งใช้ย้อมเซลลูโลส จึงทำให้ผ้ามีความขาวที่ดี
สารฟอกนวลที่ใช้กับโพลีเอสเตอร์ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
- สารประเภทที่ใช้พลังงานต่ำ (Low Energy) ประเภทนี้เหมาะกับการย้อมที่ 100 ◦C และใช้สารแครีเออร์ช่วยย้อม หรือใช้วิธีการแบบแพด-เทอร์โมซอล โดยอบที่อุณหภูมิ 175 ◦C – 185 ◦C
สินค้าของบริษัท: Apcophor EMT 250%, Apcophor ETB 300%
- ประเภทที่ใช้พลังงานสูง (High Energy) ประเภทนี้เหมาะกับการย้อมที่ 130 ◦C โดยไม่ต้องใช้สารแครีเออร์ช่วยย้อม หรือใช้วิธีการแบบแพด-เทอร์โมซอล โดยอบที่อุณหภูมิ 190 ◦C – 200 ◦C
สินค้าของบริษัท: Apcophor ERN 150%, Apcophor ERN 250%, Apcophor EBF 250%
การใช้งานของสารฟอกนวลสำหรับโพลีเอสเตร์และใยผสม
โดยทั่วไปมี 3 วิธีดังนี้
- การย้อมแบบดูดซึมพร้อมกับการฟอก หรือหลังฟอก โดยทั่วไปจะทำการย้อมที่ 130 ◦C แบบสีดิสเพอร์ส หรือย้อมที่ 100 ◦C โดยใช้สารแครีเออร์ช่วย โดยเลือกสารฟอกนวลประเภทพลังต่ำ ถ้าเป็นเส้นใยผสมต้องใส่สารฟอกนวลของเซลลูโลสด้วย ซึ่งสามารถแยกทำเป็น 2 ส่วนตามวิธีของโพลีเอสเตอร์และวิธีของเซลลูโลส
- การย้อมแบบแพด-เทอร์โมซอล ถ้าทำการแพด-เทอร์โมซอลที่อุณหภูมิต่ำคือ 157 ◦C – 185 ◦C ควรใช้สารฟอกนวลพลังต่ำ ถ้าเป็นโพลีเอสเตอร์ผสม อุณหภูมิระดับนี้ไม่ทำให้เซลลูโลสเหลือง แต่ถ้าทำเทอร์โมซอลที่อุณหภูมิคือ 190 ◦C ขึ้นไปควรเลือกใช้สารฟอกนวลประเภทพลังสูง แต่อุณหภูมิระดับนี้ทำให้เซลลูโลสเหลืองได้
- การย้อมพร้อมกับสารตกแต่งในขั้นตอนการตกแต่งผ้า วิธีนี้เป็นวิธีที่ประหยัด โดยใส่สารฟอกนวลพร้อมกับสารตกแต่งและทำการแพด-เทอร์โมซอล ถ้าเป็นเส้นใยผสมควรเลือกสารฟอกนวลประเภทพลังต่ำ เพื่อจะได้ทำการเทอร์โมซอลที่อุณหภูมิต่ำ เพื่อกันมิให้ส่วนที่เป็นเซลลูโลสเหลือง
ข้อควรระวังในการใช้สารฟอกนวล
เมื่อต้องการทำผ้าขาว จำเป็นต้องใช้สารฟอกนวลเข้ามาช่วย บางครั้งอาจพบว่าผ้าขาวที่ได้มีความแตกต่างกัน สาเหตุของความขาวที่แตกต่างกันมีได้หลายสาเหตุ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
- การเตรียมผ้ามามีความขาวไม่พอเพียง ไม่สม่ำเสมอ
- การเลือกสารฟอกนวลที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ทนต่อกรด ด่าง ไม่ทนต่อสารฟอกที่ใช้ เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, คลอไรด์ สารละลายของสารฟอกนวลที่ไวต่อแสง
- เลือกเคมีที่ใช้ร่วมกันไม่เหมาะสม
- การเข้ากันไม่ได้ของสารฟอกนวลกับสารที่มีประจุบวก
- การใช้สารฟอกนวลที่มากเกินไป
- ใช้ความร้อนไม่พอเพียงสำหรับการดีเวลลอปของสารฟอกนวลของโพลีเอสเตอร์
- ใช้ความร้อนมากเกินไประหว่างขั้นตอนการอบแห้ง การเซทหน้าผ้า และการเคียวริ่ง
- น้ำที่ใช้มีความกระด้าง มีสนิมเหล็ก
Reference:
ผ.ศ. เกษม พิพัฒน์ปัญญานุกูล. 2537. พิมพ์ครั้งที่ 1. การควบคุมคุณภาพงานเตรียมสิ่งทอเพื่อการย้อมพิมพ์. หน้า 137-142
Dr. Himadri Panda & Dr. (Mrs.) Rakhshinda Panda. Science Tech Entrepreneur. July 2016.